บทความ

10 วิธีป้องกันตัวให้รอดจาก "ไวรัสโคโรน่า"


หลังจากพบผู้ป่วยปอดอักเสบ จากไวรัสโคโรน่า เมื่อวันสิ้นปี 2562 จนถึงนาทีนี้ ยังพบการระบาดไม่หยุด และแนวโน้มรุนแรงขึ้น จึงมี 10 ข้อแนะนำในการป้องกันโรคจากองค์การอนามัยโลกและกรมควบคุมโรคที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก โคโรน่าไวรัส หรือ coronavirus (CoV) คือเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบติดเชื้อ รวมไปทั้งโรคปอดอักเสบรุนแรง พบได้ทั้งในสัตว์และในคน โดยโคโรน่าไวรัสมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่เคยระบาดรุนแรงก็ได้แก่ ไวรัสซาร์ส (SARS-CoV) ที่เคยระบาดไปทั่วโลกในปี 2002 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 600 คน และไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 900 คนในปี 2012 ซึ่ง โคโรน่าไวรัส ที่กำลังระบาดอยู่ในช่วงนี้ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งคาดกันว่าแม้จะมีความรุนแรงไม่เท่าสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ก็มีสิทธิที่เชื้อไวรัสจะพัฒนาตัวเองจนมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

โดยโคโรน่าไวรัสที่กำลังระบาดอยู่นี้ คาดกันว่าน่าจะมีศูนย์กลางการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งตอนนี้มีก็เริ่มระบาดไปยังเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน รวมทั้งต่างประเทศแล้ว โดยผู้ติดเชื้อแล้วหลายร้อยราย ซึ่งในประเทศไทยก็มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้วด้วย

ไวรัสโคโรน่า สามารถติดต่อได้ผ่าน “คนสู่คน” โดยสามาถติดต่อได้หลายทาง เช่น การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย นอกจากนั้นเชื้อไวรัสโคโรน่า ยังสามารถเข้าสู่รายการได้หลายช่องทาง เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ ตา จมูก ปาก อธิบายให้ชัดเจนก็คือ ถ้าอากาศโดยรอบมีเชื้อไวรัสโคโรน่าลอยอยู่ อาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยจามหรือไอออกมา เราสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ผ่านทางการหายใจได้เช่นกัน แต่โอกาสจะน้อยกว่าการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย) โดยตรง

สำหรับอาการผู้เข้าข่ายติดเชื้อ ต้องบอกว่า เนื่องจากธรรมชาติของเชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน แต่ความรุนแรงในการก่อโรคของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งด้านพันธุกรรม ภูมิต้านทาน สุขภาพ อายุ และประวัติการฉีดวัคซีนของแต่ละคน โดยผู้ป่วยจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ จะมีอาการทางเดินหายใจ มีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ไปจนถึงมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว


ดังนั้น วันนี้เราจึงมี 10 ข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมโรค ที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก

1. ถ้ามีแผนไปประเทศที่โรคระบาดอยู่ ถ้าไม่จำเป็น ให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน
2. หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ ตลาดค้าสัตว์ หรือสินค้าจากสัตว์ เพราะการพบผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก มาจากสัตว์สู่คน ที่ตลาดค้าอาหารทะเล และค้าสัตว์ที่เมืองอู่ฮั่น
3. ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่คนหนาแน่น
4. ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้มีอาการทางเดินหายใจ หรือมีอาการเป็นหวัด
5. หากกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ถ้าเริ่ม มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
6. โทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 เพื่อให้รถจากสถานพยาบาลมารับทันที
7. อยู่ห่างจากคนที่ไอหรือจาม 180 เซนติเมตร เพื่อให้พ้นจากรัศมีน้ำลาย และน้ำมูกที่จะกระจายออกมา
8. ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์
9. กินร้อน ช้อนกลาง อาหารปรุงสุก พักผ่อนให้เพียงพอ
10. แม้จะเป็นข้อสุดท้าย แต่สำคัญมาก คือสวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชนคนหนาแน่นไว้ก่อน

ที่ต้องเน้นดูแลตัวเอง เพราะไวรัสโคโรน่า มีรุ่นพี่มา 2 รุ่นแล้วก่อนหน้านี้ จากข้อมูลของ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปได้ว่า เมื่อปี 2545-2546 ไวรัสโคโรน่า "ซาร์" ที่ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านชะมด มาติดถึงคน เริ่มระบาดจากประเทศจีน ไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 ราย เสียชีวิต 10%

มาในปี 2555-2557 ไวรัสโคโรน่า "เมอร์ส" ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านอูฐมาติดถึงคน เริ่มจากผู้ป่วยในประเทศซาอุดีอาระเบีย มีผู้ติดเชื้อรวม 1,733 ราย เสียชีวิต 36%